






มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเข้าร่วมแสดงศิลปวัฒนธรรมในพิธีเปิดงาน พ.จ.น.ก. สัมพันธ์ ครั้งที่ 43
เมื่อวันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2565 ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มอบหมายให้ รองอธิการบดี ผศ.พจนารถ บัวเขียว และผู้บริหารสถาบันวิจัยฯเข้าร่วมกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมในพิธีเปิดงาน พ.จ.น.ก. สัมพันธ์ ครั้งที่ 43 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สถาบันวิจัยฯ ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์ฯ นำชุดการแสดง “พัสตรา อารยธรรม” โดยตัวแทนนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา อำนวยการแสดงโดย ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และ ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ควบคุมการแสดงโดย ผศ.ดร.พัชรินทร์ สุริยวงค์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ออกแบบและสร้างสรรค์โดย อาจารย์ศิริวัฒน์ ขำเกิด อาจารย์สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา ดูแลเครื่องแต่งกายและเตรียมความพร้อมในการแสดงโดย ผศ.จิตสุภวัฒน์ สำราญรัตน ผศ.ดร.วรรณวิภา มัธยมนันท์ อาจารย์จิณห์จุฑา สุวรรณ์คัมภีระ และอาจารย์วิไลวรรณ ไชยลังการ
โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่าย และเป็นเวทีให้นักศึกษาได้แสดงออกทางด้านศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย การแสดงพัสตรา อารยธรรม นั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกาย ได้แก่ ผ้า หรือ พัสตราภรณ์ ผ่านแนวความคิดที่ว่า วัฒนธรรมมีการสร้างสรรค์และธำรงไว้ซึ่งเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละอารยธรรมอย่างเด่นชัด ทำให้แต่ละวัฒนธรรมมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นเป็นของตนเอง เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ใดเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ก็มักจะเกิดการถ่ายทอดและเผยแพร่รูปแบบอารยธรรมการแต่งกายไปสู่วัฒนธรรมใกล้เคียงในแถบดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยมากมักจะได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายชาติพันธุ์จนเกิดเป็นพหุวัฒนธรรมอันหลากหลาย แต่กลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นต้นแบบวัฒนธรรมนั้นในดินแดนแถบประกอบไปด้วย อินเดีย จีน และมลายู หลอมรวมกันปรับแต่งจนกลายเป็นวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง การแสดงชุดนี้จึงนำอิทธิพลของวัฒนธรรมกลุ่มใหญ่ที่เป็นต้นแบบวัฒนะรรมย่อยในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มาถ่ายทอดและนำเสนอให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของวิธีการแต่งกายในแต่ละวัฒนธรรม ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2566 กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมในพิธีเปิดงาน พ.จ.น.ก. สัมพันธ์ ครั้งที่ 44 จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยกาญจนบุรี
ดำเนินงานโดย ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
เครดิตภาพจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี ประสานความร่วมมือในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับประชาชน
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมเอกศักดิ์บุตรลับ อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือทางวิชาการและปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีกับจังหวัดเพชรบุรี มีนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายอำเภอทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดเพชรบุรี คณบดีทั้ง 8 คณะในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เข้าร่วมลงนามความร่วมมือ โดยได้รับเกียรติจากพลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมเป็นเกียรติในการลงนามความร่วมมือ
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการประสานความร่วมมือทางวิชาการและปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีกับจังหวัดเพชรบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพของคน ระบบและกลไกของชุมชน ให้มีทักษะ ความรู้และความสามารถในด้านต่าง ๆ ประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการ ในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน การจัดระบบข้อมูล องค์ความรู้ งานวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมและการสื่อสารงานพัฒนาของชุมชนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนร่วมกันสรุปบทเรียนและประเมินผลการทำงาน เพื่อจัดทำชุดองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ ตลอดจนข้อเสนอในการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “การให้บริการวิชาการและการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีกระบวนการเวทีประชาคมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการ จากนั้นนำมาสังเคราะห์ประเด็นนำมาสู่การจัดทำโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น”
ดำเนินงานโดย ฝ่ายพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ
สามารถดาวน์โหลดภาพเพิ่มเติมได้ ที่นี่
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดงานเปิดทศวรรษใหม่ “มหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ครั้งที่ 11”
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 5 ธันวาคม 2565 ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนครคีรี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานเปิดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ครั้งที่ 11 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 ธันวาคม 2565 โดยมีนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “การจัดงานในปีนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายจัดขึ้น ในชื่องาน “เทิดไท้จักริน หัตถศิลป์ถิ่นพริบพรี เก็จมณีสู่อาเซียน” ภายใต้แนวคิด “ภูษา ภักษาหาร ผสานศิลป์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟูและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของไทยและอาเซียน เสริมสร้างความปรองดองภายในชาติและภูมิภาคอาเซียน โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อในการเชื่อมโยงความรักสามัคคีกัน เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านศิลปวัฒนธรรม ให้กับศิลปินอาเซียนได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ชุมชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เผยว่า “งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น ตั้งแต่ปี 2554 เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นบนความหลากหลายด้านศิลปวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ภูษา ภักษาหาร ผสานศิลป์” เป็นการผสมผสานในเรื่องของรสอาหารของจังหวัดเพชรบุรีที่เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ความมีฝีมือที่โดดเด่นและเป็นอัตลักษณ์ของงานศิลปหัตถกรรมของช่างเมืองเพชร และความวิจิตรศิลป์ของลายผ้าจากผ้าพื้นเมือง ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าลายอย่างและผ้าจากงานวิจัยสู่อัตลักษณ์เมืองเพชร”
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากต่างประเทศ จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดียและเกาหลีใต้ ตลอดจนการแสดงจากสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศ นิทรรศการผ้าชาติพันธุ์ในเมืองเพชร ภูษาผ้าลายอย่าง ลายผ้าจากงานวิจัยสู่อัตลักษณ์เมืองเพชร นิทรรศการอาหาร เป็นการสาธิตและจำหน่ายอาหารพื้นเมืองของเมืองเพชรบุรี โดยโรงเรียนการอาหารนานาชาติเพชรบุรีและหน่วยงานต่าง ๆ นิทรรศการช่างและอบรมเชิงปฏิบัติการงานช่างเมืองเพชร นิทรรศการการแสดงผลงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และการเดินแบบชุดผ้าไทยและผ้าอัตลักษณ์เมืองเพชร โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์ของจังหวัดเพชรบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมรับชมการจัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 5 – 7 ธันวาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนครคีรี
ดำเนินงานโดย ฝ่ายงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
สามารถดูภาพเพิ่มเติมได้ ที่นี่

ประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อรองรับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
✨✨สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
จัดโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อรองรับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้กิจกรรม : พัฒนาศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้
แหล่งเสริมพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่น รายกิจกรรม : พัฒนาศักยภาพการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แบบเศรษฐกิจ BCG สำหรับแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างพลังปัญญาของชุมชนท้องถิ่น
👉จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรส่งเสริมการเป็น SMART farmer การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
👨🏫วิทยากรโดย…ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา มุขดา สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
🗓️ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2565
📌ณ โรงเรียนบ้านโป่งสลอด และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี วิทยาเขตโป่งสลอด ตำบลหนองกะปุ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
➡️อบรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
#ความรู้ดีดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องมาอบรมจ้า
#รู้ลึกรู้จริงรู้ในสิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน
#สัมมาชีพชุมชนสร้างวิถีที่ยั่งยืน











ประชุมขับเคลื่อนวิทยาเขตโป่งสลอดสู่ศูนย์เรียนรู้/วิจัย/นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
🟡🟢ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ได้เป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนวิทยาเขตโป่งสลอดสู่ศูนย์เรียนรู้/วิจัย/นวัตกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในทุกมิติร่วมกับคณบดี/ผู้แทน
ทั้ง 8 คณะในมหาวิทยาลัย และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันระดมความคิดและมองเห็นทิศทางการพัฒนางานของวิทยาเขตโป่งสลอด
วางแผนแนวทางการจัดหารายได้จากการใช้ประโยชน์ศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่แบบครบวงจรเพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต
🗓️เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2565
🕰️เวลา 13.30 - 15.00 น.
📌ณ ห้องประชุมเอกศักดิ์บุตรลับ อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
#พลังราชภัฏสู่การพัฒนาท้องถิ่น✨✨