เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ การพัฒนาท้องถิ่นมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมบุคลากรจากสถาบันวิจัยฯ และสำนักงานยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ลงพื้นที่ ต.แสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามผลการดำเนินการงานโครงการยกระดับและพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยท่านอธิการบดี ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม และผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คุณเสถียร เจริญเหรียญ ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านอัตลักษณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
1. เพื่อพัฒนาอัตลักษณ์จากมะพร้าว โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นอัตลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2. เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้คือ กะลามะพร้าว สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านต่างๆ
3. สร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชน ซึ่งนอกจากจะขายมะพร้าวเป็นอาชีพหลักแล้ว ก็สามารถที่จะใช้กะลามะพร้าวมาสร้างเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและจำหน่ายได้ราคาสูง
4. พัฒนาตำบลแสงอรุณให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องมะพร้าว เพื่อการต่อยอดการท่องเที่ยวของชุมชนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นมหาวิทยาลัย ราชภัฏเพชรบุรี ได้กล่าวว่าในส่วนของตำบลแสงอรุณนั้น เป็นตำบลที่ประกอบอาชีพปลูกมะพร้าว และจำหน่ายมะพร้าวที่มากที่สุดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่สิ่งหนึ่งที่ตำบลแสงอรุณไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ เศษวัสดุ เช่น เปลือกมะพร้าวและกะลามะพร้าวที่เหลือจากการผลิตมะพร้าวขาย เปลือกมะพร้าวและกะลามะพร้าว ดังนั้นสำนักงานยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและสถาบันวิจัยฯ จึงได้จัดโครงการเพื่อการยกระดับและพัฒนาสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยใช้มะพร้าวเป็นตัวตั้งต้นในการดำเนินการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกะลามะพร้าวแบบครบวงจร และได้มีการเชิญวิทยากร/ดีไซเนอร์ผู้มีความรู้ความสามารถ คือ อาจารย์บงกชรัตน์ ล้ำเลิศ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทไอริสซ่า มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้ เช่น จากกะลามะพร้าว สู่การพัฒนาเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้นั้นได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกำนันพัชรดนัย สมศรี กำนันตำบลแสงอรุณ และผู้บริหารท้องถิ่นและท้องที่ ให้ความร่วมมือที่จะสร้างอัตลักษณ์ โดยใช้กะลามะพร้าวเป็นสินค้า ซึ่งจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ พบว่าชุมชนสามารถที่จะต่อยอดสู่ความสำเร็จ และทำเป็นอาชีพเสริมที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับเจ้าของสวนมะพร้าวได้ และประการสำคัญก็คือ ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวจะเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับการใช้การตลาดนำการผลิต ซึ่งทางทีมวิทยากรและมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้บริหารจัดการเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ได้แบบครบวงจร เพื่อให้ผลผลิตที่ได้นั้นสามารถขายในตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้
โดยมีการกำหนดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับและพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ณ อาคารเอนกประสงค์ หมู่ 2 ต.แสงอรุณ มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 20 คน ในการนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ขอขอบคุณกำนันพัชรดนัย สมศรี ทีมงานองค์กรท้องถิ่นทุกคน และอาจารย์บงกชรัตน์ ล้ำเลิศ ที่ให้การต้อนรับ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้ทำงานเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยใช้วัสดุจากมะพร้าวเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป