วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตสุภวัฒน์ สำราญรัตน ประธานสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา และคณาจารย์สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นำนักแสดงซึ่งเป็นนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษาไปทำการแสดงชุดมนต์เสน่ห์หัตถศิลป์ ของดีบ้านบางเค็ม ในรายการ 360 องศา นิวโชว์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD
อาจารย์วิไลวรรณ ไชยลังการ อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา ผู้รังสรรค์ชุดการแสดง กล่าวว่า “การแสดงชุดมนต์เสน่ห์หัตถศิลป์ ของดีบ้านบางเค็ม ดำเนินงานภายใต้โครงการ U2T 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ความน่าสนใจหรือจุดเด่นของการแสดงชุดนี้คือการแสดงที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของประชาชนในตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ในการทำปลาสลิดที่มีการเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของดิน น้ำและสภาพภูมิอากาศ เมื่อจำนวนปลาสลิดมีจำนวนมากจึงได้มีการนำไปแปรรูปด้วยการทำปลาสลิดแดดเดียวและน้ำพริกปลาสลิด ในฐานะผู้คิดค้นผลงานการแสดงชุดนี้รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนในการเผยแพร่ของดีของตำบลบางเค็มให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการใช้ศาสตร์ทางนาฏศิลป์มา บูรณาการภายใต้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้และความกินดี อยู่ดีของคนในพื้นที่”
สำหรับชุดการแสดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 หมู่มวลปลาสลิดในยามเช้า ความสมบูรณ์ของตัวปลาต่างออกมาร่ายรำ
ช่วงที่ 2 กระบวนการจับปลาสลิด ขั้นตอนการทำปลา ขอดเกล็ด ตากปลา เพื่อนำมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และกรรมวิธีการจักสาน จนได้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆที่ได้จากไม้ไผ่และหวาย เช่น ตะกร้าหวาย
ช่วงที่ 3 เป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์รวม ของดีตำบลบางเค็ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีการสนับสนุนผลงานการแสดงสร้างสรรค์ และสนับสนุนทุนวิจัยในการวิจัยผลงานด้านนาฏศิลป์สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันให้เกิดการเผยแพร่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ของทุกปี มีการแลกเปลี่ยน เผยแพร่การแสดงจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการแสดงชมพู่เพชรสายรุ้ง ที่เป็นการเล่าเรื่องกระบวนการตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการสืบสานวิถีคน ชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เล่าขานเป็นการสร้างสรรค์งานทางนาฏยประดิษฐ์ ในรูปแบบการแสดงพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ของหมู่บ้านยางน้ำกลัดใต้ ตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี”
อาจารย์ ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านอาหารเมืองเพชรบุรีว่า “จังหวัดเพชรบุรี เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกด้านอาหาร (City of Gastronomy) หรือ UNESCO Creative Cities ซึ่งเพชรบุรีเป็นเมืองตำรับด้านอาหารหวาน รวมทั้งอาหารคาวอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดเพชรบุรีขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง 3 รส ได้แก่ รสหวานจากน้ำตาลโตนด รสเปรี้ยวจากมะนาวพันธุ์พื้นเมือง และรสเค็มจากเกลือบ้านแหลม ซึ่งการแสดงชุดมนต์เสน่ห์หัตถศิลป์ ของดีบ้านบางเค็ม จะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนทางด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน”
เครดิตข่าว #กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี