Home ข่าวประชาสัมพันธ์ข่าวงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมกับสถานศึกษาและเครือข่าย นำเสนอผลงานวิจัย ด้านอาหารและการท่องเที่ยวผ่านกิจกรรม “RAINS for LCP Food Valley 2023” สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดในการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมกับสถานศึกษาและเครือข่าย นำเสนอผลงานวิจัย ด้านอาหารและการท่องเที่ยวผ่านกิจกรรม “RAINS for LCP Food Valley 2023” สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดในการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO

by นงลักษณ์
Published: Last Updated on 21 views

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เวลา 11.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย RAINS for LCP Food Valley นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัDกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ให้การต้อนรับนายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “RAINS for LCP Food Valley 2023” ที่สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้จัดขึ้น ณ ศูนย์อาหาร ชั้น 1 ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์เพชรบุรี อาจารย์ ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ว่า “เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยในแผนงาน RAINS for LCP Food Valley ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรีและราชบุรี ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยแบบ Quad-Helix ได้แก่ ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค องค์กรภาคธุรกิจกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งสามแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการทำงานแบบประชารัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคภาคกลางตอนล่าง” ภายในงานประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคและฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในกลุ่มอาหาร 2 กลุ่ม คือ Healthy food และ Cultural food เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มศักยภาพการแข่งขันและลดการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเยลลี่เพื่อสุขภาพจากสมุนไพรท้องถิ่น และผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าหมี่วีแกนบอล มีโปรตีนพืชจากท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์อาหารวัฒนธรรม 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ขนมเม็ดขนุนเพื่อสุขภาพ ใช้สารทดแทนความหวานพาลาทีนที่มีค่า GI ต่ำ ผลิตภัณฑ์ธัญพืชอัดแท่นให้พลังงานสูงจากกระยาสารท และผลิตภัณฑ์คุกกี้ลำดวนผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการโครงการเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมีวิสัยทัศน์ในการที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดเพชรบุรีที่จะเป็นเมืองเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และเมืองน่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยวระดับประเทศ สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าประสงค์หลักในการเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการโรงแรมที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ผ่านรูปแบบการบริหารจัดการด้วยการบูรณาการศาสตร์แบบ Cluster (Food Tourism and Hospitality Cluster) ที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย สร้างสรรค์องค์ความรู้บนหลักของศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีนโยบายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่ส่งเสริม สนับสนุนและสร้างเครือข่าย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัย สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้วยการบูรณาการให้ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลง นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เน้นรากฐานสำคัญของประเทศชาติ เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการรับใช้สังคมด้วยการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สนับสนุนการวิจัยตามความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการวิจัยและการบริการวิชาการที่มองเห็นการใช้ประโยชน์และผู้ใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน เกิดการสร้างคุณค่าและมูลค่าเชิงพาณิชย์ เป้าหมายสำคัญของการสร้างผลงานวิจัย คือ ได้นวัตกรรมหรือวิทยาการใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ โดยมุ่งให้เกิดงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพื้นที่ ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่า เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพ สนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากและถ่ายทอดสู่สังคม จึงจะถือว่าเป็นงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคง ยั่งยืนและคุ้มค่า

เนื้อหาข่าวจาก #กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ดำเนินงานโดย #ฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

ภาพเพิ่มเติม https://www.pbru.ac.th/pbru/news/52815?fbclid=IwAR1bZb77Ww2ZkPBekPZ2ZxdO1PWh_uwT3RzYjperJQNeEBEja6AtJDtlrcw