Home ข่าวประชาสัมพันธ์ข่าวงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี​ร่วมงานงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 “ยลแสง-ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข”

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี​ร่วมงานงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 “ยลแสง-ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข”

by นงลักษณ์
33 views

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี​ร่วมงานงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 “ยลแสง-ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข”

🔰 วันที่​ 18 กุมภาพันธ์​ 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี​ ได้มีการจัดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 “ยลแสง-ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” ณ UBRU Happiness Stadium มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี​ได้ร่วมนำชุดการแสดง “มนต์เสน่ห์หัตถศิลป์ ของดีบ้านบางเค็ม” เข้าร่วมงานดังกล่าว
🙏โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตสุภวัฒน์ สำราญรัตน ประธานสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา และอาจารย์วิไลวรรณ ไชยลังการ อาจารย์จากสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา​ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้ฝึกซ้อม

ซึ่งได้แนวคิดในการสร้างสรรค์งาน “มนต์เสน่ห์หัตถศิลป์ ของดีบ้านบางเค็ม” จากการดำรงชีวิตของชาวบ้านหมู่บ้านบางเค็ม ที่มีอาชีพเลี้ยงปลาสลิด การทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับปลาสลิด มีการจักสาน การทอผ้า การทำวุ้นมะพร้าวจากมะพร้าวน้ำหอม และการทำยาหอมที่ขึ้นชื่อ คือยาหอมวัดกุฏิ
การแสดงชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก การดำเนินงานร่วมกันกับโครงการ U2T 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ลงพื้นที่ตำบลบางเค็ม ได้เห็นถึงการดำรงชีพอย่างพอเพียง มีการส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชนสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของอาจารย์วิไลวรรณ ไชยลังการ อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะมนุษยศาสร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

รูปแบบในการแสดงแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่1 หมู่มวลปลาสลิด ในยามเช้า ความสมบูรณ์ของตัวปลาต่างออกมาร่ายรำ
ช่วงที่2 กระบวนการจับปลาสลิด ขั้นตอนการทำปลา ขอดเกล็ด ตากปลา เพื่อนำมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และกรรมวิธีการจักสาน จนได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ได้จากไม้ไผ่ และหวาย เช่น ตะกร้าหวาย
ช่วงที่3 เป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์รวม ของดีตำบลบางเค็ม
โดยมีผู้แสดงทั้งสิ้น จำนวน 12 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 8 คน
เครื่องแต่งกาย ได้แรงบันดาลใจมาจากการแต่งกายที่เรียบง่ายตามแบบชาวบ้าน
เพลงหรือดนตรี  สร้างสรรค์ทำนองเพลง ดนตรีประกอบการแสดง โดยใช้เครื่องดนตรีไทยเป็นหลักในการบรรเลง ทำนองเพลง แบ่งเป็น 3 ช่วง
ช่วงที่ 1 ลักษณะทำนองเพลงเป็นจังหวะช้า สื่อถึงการแสดงภาพยามรุ่งอรุณ บรรยากาศยามเช้า
ช่วงที่ 2 เพิ่มอัตราจังหวะให้เร็วขึ้น ทำนองเพลงสื่ออารมณ์ ความสุข การหยอกล้อของชายหญิง
ช่วงที่ 3 เป็นช่วงแสดงอารมณ์เพลงที่เร็วขึ้นเพื่อดึงดูดไปสู่จุดสุดยอดของเพลง แล้วหยุดทันที กลับสู่ท่วงทำนองที่มีอัตราจังหวะช้า สื่อถึงความงดงามของการร่ายรำ และเร่งจังหวะสุดท้ายให้เร็วขึ้นที่สุดจนจบการแสดง
อุปกรณ์ : ปลาสลิด ทำด้วยโฟมแล้วทาด้วยสีทับออกแบบลวดลาย  ข้องใส่ปลา  สวิง ตะกร้าหวาย

ซึ่งการแสดงได้รับความชื่นชอบของผู้ชมเป็นอย่างมาก

#ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม