ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นำคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะวิทยาการจัดการ พร้อมด้วยบุคลากรจากสำนักงานโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการและการถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโกโก้ การพัฒนาแผนการตลาดครบวงจร ภายใต้โครงการ “การแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มจากโกโก้สู่การค้าเชิงพาณิชย์”
ในวันที่ 9 – 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ณ องค์การบริหารส่วนตำบลช้างแรก
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีต่อยอดผลิตภัณฑ์โกโก้ ตำบลช้างแรก เนื่องจากโกโก้เป็นพืชที่นิยมปลูกเสริมในพื้นที่สวนปาล์ม สวนยางพารา และจำหน่ายผลสดให้กับโรงงานซึ่งมีการคัดเลือกผลที่สมบูรณ์และให้ราคาตามคุณภาพ โดยเกษตรกรนั้นขายได้ในราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 12 บาท และผลที่ตกเกรดจะมีราคาตกต่ำ ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายวิถีเกษตรธรรมชาติ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นกลุ่มต้นแบบที่ทำการแปรรูปโกโก้เป็นผงโกโก้ แต่ยังมีขั้นตอนการผลิตที่ต้องควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้ผงโกโก้ที่ได้มาตรฐาน การลงพื้นที่จัดการอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้กระบวนการผลิตโกโก้ที่มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ แนะนำช่องทางการตลาดและพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตโกโก้ เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรประสบปัญหาในกระบวนการแปรรูปผงโกโก้ให้ได้มาตรฐานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับกลุ่มผู้บริโภค โดยมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและการถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโกโก้ 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผงโกโก้และโกโก้สำเร็จรูปพร้อมดื่ม 3in1 การพัฒนาแผนการตลาดครบวงจร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว กล่าวว่าตามนโยบายของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดี ได้มอบนโยบายให้คณะผู้ทำงาน กำหนดพื้นที่เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาร่วมกับชุมชนได้แก่ ชุมชนไชยราช ชุมชนช้างแรก และชุมชนนาหูกวาง โดยคณะทำงานได้เลือกพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากสภาพอากาศ สภาพดิน สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมมีความพร้อมและมีกลุ่มที่มีความสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพสู่การจัดตั้งเป็นวิสาหะกิจชุมชนได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯที่ต้องการพัฒนาโกโก้ให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดประจวบต่อไป โดยการทำงานในครั้งนี้เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับคณะเทคโนโลยีเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โรงเรียนการอาหารนานาชาติและคณะวิทยาการจัดการ ลงมาดำเนินการอย่างครบวงจร และคาดว่าจะเกิดเป็นต้นแบบชุมชนผู้ปลูกโกโก้ต่อไป
นายนวรัตน์ วงศ์ปิ่นเพชร นายอำเภอบางสะพานน้อย ได้กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีครั้งนี้ ทำให้พี่น้องผู้ปลูกโกโก้ได้รับประโยชน์อย่างมาก สามารถจัดตั้งกลุ่มและยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มสูงขึ้นได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้นำองค์ความรู้ในกระบวนการปลูก แปรรูป สร้างระบบการตลาดที่ทันสมัย และขอขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ได้มอบโอกาสที่ดีในการพัฒนาศักยภาพในทุกด้านให้กับชุมชน
#ดำเนินงานโดยฝ่ายพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ