งานปั้นหัวโขน หัวละคร

by วันณพงค์
2,458 views

ประวัติความเป็นมา การสร้างหัวโขนของไทยมีมาแต่โบราณ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพบหลักฐานศีรษะพระครูในคลังศิลปสมเด็จเจ้าฟ้ากรม พระยานริศรานุวัตติวงศ์ และศีรษะทศกัณฐ์ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 แต่การสร้างหัวโขนมาเจริญถึงขีดสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งถือเป็นยุคทองของวงวรรณกรรมและนาฏศิลป์ไทย หัวโขนนับเป็นงานศิลปะขั้นสูงที่รวมเอาผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในเชิงช่างหลายสาขาเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ช่างหุ่น ช่างปั้น ช่างแกะสลัก ช่างกลึง ช่างรัก และช่างเขียน แต่ในทางปฏิบัติกว่าจะได้มาซึ่งหัวโขนที่ถูกต้องและสวยงามนั้นต้องอาศัย เทคนิคและองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจุบันหัวโขนมิได้เป็นเพียงส่วนประกอบสำคัญในการแสดงโขนเท่านั้น หากแต่หัวโขนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทยไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากหัวโขนได้ถูกย่อส่วนลงเพื่อจัดแสดง ประดับประดาในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตามโรงแรม ห้องนิทรรศการ ห้องแสดงสินค้าหัตถกรรมไทย เป็นต้น เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศให้มีเสน่ห์อย่างล้ำลึก และมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น นอกจากนี้หัวโขนยังได้กลายเป็นของสะสมสำหรับผู้มีรสนิยมทางศิลปะอันละเมียด ละไมอีกด้วย

กระบวนการขั้นตอนการผลิต การทำหัวโขนนับได้ว่าเป็นศิลปะที่ต้องใช้ฝีมือการทำจากศิลปะหลายแขนงมารวม เป็นจุดเดียวกัน สิ่งแรกที่ควรระลึกถึงนั่นคือความตั้งใจจริงในการทำงานเมื่อตั้งใจแล้วจะ ต้องศึกษาหาประสบการณ์จากด้านต่าง ๆ อันจะเป็นส่วนประกอบในการสร้างผลงานให้ได้ส่วนสัดและแบบแผนที่ถูกต้อง สมบูรณ์ การทำหัวโขนมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) การปั้นหุ่น หุ่นในที่นี้ หมายถึง รูปแบบ หรือลักษณะของหัวโขน ได้แก่ หุ่นพระ-นาง หุ่นยักษ์โล้น หุ่นยักษ์ยอด หุ่นลิงโล้น หุ่นลิงยอด และหุ่นพิเศษ ในการปั้นหุ่นขั้นแรกจะต้องเตรียมดินก่อน เพราะการปั้นดินง่ายกว่าการทำหุ่นปูนปลาสเตอร์ ดินที่ใช้ปั้นเป็นดินเหนียวต้องนวดดินเหนียวให้ได้ที่แล้วนำมาวางบนแป้น กระดาน ปั้นเป็นรูปหุ่นแบบต่าง ๆ ตามต้องการ ทั้งนี้ต้องเข้าใจลวดลายและลักษณะหน้าตาของหัวโขนที่ทำเพื่อสร้างหุ่นให้ได้ แบบเป็นกลางและสามารถนำไปประยุกต์เป็นแบบต่าง ๆ ได้ในโอกาสต่อไป เมื่อปั้นดินเป็นหุ่นเรียบร้อยแล้วจึงกลับหุ่นดินเป็นหุ่นปูนปลาสเตอร์เพื่อ จะได้เป็นหุ่นที่ถาวร การกลับหุ่นนี้อาศัยหลักการทำหุ่นปูนปลาสเตอร์นั่นเอง

2) การพอกหุ่น และผ่าหุ่น เมื่อปั้นหุ่นได้เรียบร้อยตามความต้องการแล้ว เอาแป้งเปียกละเลงบนกระดาษสา (แต่เดิมนั้นใช้กระดาษข่อยแต่ในปัจจุบันไม่สามารถหากระดาษข่อยได้แล้วจึงใช้ กระดาษสาแทน) ซึ่งฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปิดลงให้รอบหุ่น การปิดกระดาษจะกำหนดกี่ชั้นก็ได้ให้หนาพอสมควรที่หุ่นจะทรงตัวอยู่ได้ โดยจะต้องปิดกระดาษเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นเท่า ๆ กัน เมื่อเรียบร้อยแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 วัน เมื่อหุ่นแห้งแล้วนำมากวด หรือรีดเพื่อให้เรียบ แล้วใช้มีดผ่าด้านหลังของหุ่นทั้งนี้เพื่อให้หุ่นออกมาในรูปที่เรียบร้อย เมื่อเอากระดาษออกมาจากหุ่นแล้วใช้ลวดขนาดเล็กเย็บส่วนที่ผ่าเป็นระยะ ปิดกระดาษทับรอยลวดซึ่งเกิดจากการเย็บให้เรียบร้อยทั้งด้านในและด้านนอก ถึงขั้นนี้จะได้หุ่นกระดาษซึ่งเรียกกันว่า กะโหลก ใช้มีดคม ๆ เฉือน ตกแต่งกะโหลกให้เรียบร้อย ปิดกระดาษทับอีกครั้งหนึ่งจะได้หุ่นกระดาษที่สมบูรณ์พร้อมที่จะปั้นหน้าต่าง ๆ ได้

3) การแต่งหน้าหุ่น ติดลวดลาย และทำเครื่องประกอบ หุ่นกระดาษที่ได้ออกมาแล้วจำเป็นจะต้องตกแต่งให้สัดส่วนต่าง ๆ บนใบหน้านูนเด่นขึ้น โดยใช้รักปั้นทับตามรูปหน้า คิ้ว ตา ริมฝีปาก จมูก ไพรปาก แล้วปิดกระดาษสาทับ ส่วนใดที่ไม่เรียบใช้มีดตกแต่งและขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบร้อย จะได้หุ่นที่คมชัดเพื่อทำการติดลวดลาย ลวดลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ทำให้หน้าโขนนั้น ๆ มองดูมีชีวิตชีวา การติดลวดลายเริ่มจากการใช้รักกระแหนะลายออกจากพิมพ์หินสบู่ที่แกะไว้จนได้ เป็นลายเส้นและลายกระจัง นำลายรักมาติดบนกะโหลกให้ครบ ซึ่งต้องใช้รักเทือก (ยางรักผสมกับน้ำมันยาง ก่อนใช้จะต้องนำมาให้ความร้อนเพื่อทำให้รักเทือกอ่อนตัว) เป็นตัวเชื่อมให้ลายเหล่านั้นติดแน่นอยู่กับกะโหลก การวางลวดลายจำเป็นต้องศึกษาลักษณะของหัวโขนในแต่ละแบบซึ่งไม่เหมือนกันและ เป็นไปตามแบบแผนโบราณซึ่งอาจดูได้จากภาพรามเกียรติ์ หรือภาพลายเส้นลวดลายหน้าเกี่ยวกับหัวโขน

รักที่ใช้ทำลายนี้เตรียมได้จากขั้นตอนที่พิเศษมาก ทำโดยนำยางรักมาเคี่ยวกับถ่านใบตองแห้ง หรืออาจใช้ถ่านกะลา ถ่านใบตาล หรือถ่านใบจากก็ได้ การเลือกใช้ถ่านนี้ควรเลือกใช้ถ่านที่มีน้ำหนักเบา และการเผาถ่านต้องเผาให้เป็นถ่านดำจริง ๆ ไม่มีเถ้าขาว เมื่อเคี่ยวรักจนได้ที่ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจนานเป็นเดือน แล้วนำมาจับเป็นก้อนเพื่อให้สะดวกในการใช้งาน การกระแหนะลายรักเริ่มต้นจากการนำรักมาปิ้งไฟให้อ่อนตัว ทุบและกลึงเป็นท่อน แล้วจึงนำรักมาคลึงลงบนพิมพ์กระแหนะซึ่งแกะจากหินสบู่ เมื่อแกะออกมาจะได้ลวดลายตามที่ต้องการ การกระแหนะลายรักเป็นงานที่ประณีตมากเพราะจะต้องแกะส่วนเล็กส่วนน้อยทีละ ส่วน จึงนำมาประกอบเข้าเป็นวัตถุเดียวกันภายหลัง

สำหรับหน้าโขนที่มีมงกุฎจะต้องเตรียมส่วนยอดไว้ด้วย ยอดของมงกุฎมีหลายชนิด เช่น ยอดชัย ยอดเดินหน ยอดหางไก่ ยอดน้ำเต้า เป็นต้น ยอดเหล่านี้เองเป็นลักษณะเฉพาะตัวของหัวโขน เช่น วิรุญจำบัง เป็นหน้ายักษ์ที่มีมงกุฎยอดหางไก่ หรือแม้แต่หัวโขนหน้าเดียวกันยังอาจใช้ยอดแตกต่างกันไปตามโอกาส เช่น พระรามเมื่ออยู่ในเมืองจะใช้ยอดชัย แต่เมื่อเดินป่าหรือออกนอกเมืองจะใช้ยอดเดินหน ดังนั้นช่างที่ทำหัวโขนจึงจำเป็นจะต้องมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ทำ หัวโขนออกมาได้อย่างถูกต้อง ยอดของมงกุฎนี้อาจทำจากกระดาษสาหรือกลึงจากไม้ก็ได้ ต่อจากนั้นจึงติดลายรักลงไปบนยอด

การแกะพิมพ์หินหรือพิมพ์กระแหนะเป็นงานที่ต้องอาศัยความสามารถในการสลักเป็น อย่างมากเพราะต้องใช้สิ่วเล็กๆ ค่อย ๆ สกัดหินออกให้เป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น การทำกะบัง การทำมงกุฎพระ มงกุฎนาง ชฎาพระ ชฎานาง และอื่นๆ ความยากในการทำหัวโขนอยู่ที่การแกะพิมพ์นี่เองเพราะการทำพิมพ์นี้ขึ้นอยู่ กับวิธีการและฝีมือของช่างแต่ละคน ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดกันได้และพิมพ์เช่นนี้ก็ไม่มีขาย จึงมีหัวโขนที่เป็นประณีตศิลป์ปรากฏออกมาไม่มากนัก

เครื่องประกอบที่กล่าวถึงนี้เป็นส่วนของหน้าโขนที่ไม่อาจใช้กระดาษสาหรือรัก ทำได้ เช่น จอนหู ซึ่งต้องใช้หนังวัวเป็นพื้นเพราะมีความแข็งแรง สามารถดัดให้โค้งงอตามความต้องการได้และ ข้อสำคัญหนังวัวที่นำมาทำจอนหูจะต้องฉลุสลักลวดลายให้งดงามตามแบบศิลปะของ การแกะสลัก แต่ก่อนที่จะสลักจะต้องเขียนแบบลงบนกระดาษแล้วปิดกระดาษลงไปบนหนังวัว ต่อจากนั้นจึงลงมือสลักแผ่นหนังวัวตามลวดลายในกระดาษ เสร็จแล้วจึงผนึกหนังที่ฉลุลายให้แข็งแรงโดยใช้ลวดเป็นแกน ขั้นต่อมาคือการนำแผ่นหนังที่ฉลุเป็นรูปจอนหูไปประกอบกับหุ่นกระดาษซึ่งติด ลวดลายไว้พร้อมแล้ว หลังจากนั้นจึงติดลายรักลงบนจอนหูให้เรียบร้อย

นอกจากนี้ยังต้องติดเครื่องประกอบอื่น ๆ ให้แก่หัวโขน คือ ตา ฟัน เขี้ยว และงา ซึ่งทำจากหอยมุกโข่งไฟ เครื่องประกอบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของหัวโขน เช่น ทศกัณฐ์ต้องมีตาโพลง และเขี้ยวโง้ง หรือหน้าพระพิฆเนศวร์จะต้องมีงา 2 ข้าง โดยที่งาข้างซ้ายจะต้องหัก (ตามบทพากย์โขนในตอน พระพิฆเนศวร์เสียงา)

4) การปิดทองและติดพลอย การปิดทองคำเปลวจะปิดลงบนหัวโขนตรงส่วนที่เป็นลายรัก หรืออาจปิดบริเวณหน้าของหัวโขนในกรณีที่หัวโขนมีหน้าสีทอง เพื่อให้หัวโขนมีความสวยงามและความสุกปลั่งของทองคำเปลว

การติดพลอยจะประดับเฉพาะมงกุฎ หรือกรอบพักตร์ จอนหู และลายท้าย (อยู่ตรงท้ายทอยของหัวโขน) เท่านั้น มิให้ติดส่วนอื่นของหัวโขนที่มิได้เป็นเครื่องประดับเลย แต่เดิมนั้นการประดับหัวโขนจะใช้กระจกเกรียบแต่เนื่องจากปัจจุบันกระจก เกรียบเป็นของหายาก ช่างทำหัวโขนส่วนใหญ่จึงหันมาใช้พลอยแทนกระจกเกรียบ ทั้งนี้เพราะส่วนประกอบต่าง ๆ ต้องผันแปรไปตามสภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ความคงทนของวัสดุและความงดงามของศิลปะเป็นสำคัญ

5) การลงสี การเขียนลวดลายลายลงบนหัวโขน การลงสีหน้าโขนนั้นเป็นขั้นตอนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาสี ต่าง ๆ ในพงศ์รามเกียรติ์ให้ถ้วนถี่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสีของหน้าโขนแต่ละหน้าไม่เหมือนกัน เช่น พระรามมีหน้าสีเขียวนวล แต่พระลักษณ์จะมีหน้าสีทอง แม้สีเดียวกันยังมีโทนสีที่แตกต่างกันสำหรับหัวโขนที่แตกต่างกัน เช่น พระปรคนธรรพใช้สีเขียวใบแค ส่วนพระรามใช้สีเขียวนวล ดังนั้นการผสมสีให้ถูกส่วนและสีถูกต้องตามพงศ์นั้นเป็นสิ่งที่ควรคำนึงอย่าง ยิ่งอีกประการหนึ่ง

ลักษณะการเขียนลวดลายไทยเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดในการทำหัวโขนออกมาในรูป ของความประณีตละเอียดอ่อนได้ ฉะนั้นช่างทำหัวโขนจึงต้องศึกษาลวดลายเพื่อฝึกฝนให้ชำนาญโดยเฉพาะ “ลายฮ่อ” จะปรากฏมีอยู่ทุกหน้าของหัวโขน นอกจากนี้แล้วลายไทยในการวาดภาพประเภทลายเส้นมีส่วนทำให้การเขียนดีขึ้น การฝึกฝนฝีมือให้ชำนาญย่อมทำให้การเขียนลวดลายงดงาม หลังจากลงสีหัวโขนเรียบร้อยแล้วจึงเขียนลวดลายต่าง ๆ เช่น เส้นคิ้ว ตา ปาก ไพรปาก เส้นฮ่อ ลงบนหน้าโขน การเขียนลวดลายแต่ละหน้าต้องตกแต่งอย่างละเอียดตามลักษณะของหน้าโขนชนิดนั้น ๆ ความประณีตของลวดลายมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะส่วนนี้เองทำให้ผู้ชมเกิดความ รู้สึกว่างานนั้นงดงาม หรือ ประณีตเพียงไร

การดูแลรักษา หัวโขนเป็นสิ่งประดิษฐกรรมอันประณีตวิจิตร เป็นสิ่งควรทะนะถนอมและเก็บรักษาให้คงสภาพดีอยู่เสมอ หัวโขนที่ใช้สวมศีรษะออกแสดงโขนนั้น นอกเวลานำออก ใช้มักได้รับการการเก็บรักษาไว้ในภาชนะชนิดหนึ่งเรียกว่า ลุ้ง ประกอบด้วยตัวลุ้ง ฝาครอบสำหรับป้องกันหัวโขนที่เก็บรักษาไว้ภายในมิให้ชำรุด

ลุ้งสำหรับใส่หัวโขนนี้ มักทำเป็นรูปทรงกระบอกเตี้ย ๆ ตรงกลางตัวลุ้งตั้ง ทวน คือ หลักเตี้ยมีแป้นกลมสำหรับรองรับหัวโขนและชฎา ส่วนฝาลุ้งนั้นถ้าเป็นลุ้ง สำหรับเก็บหัวโขนอย่างหัวกลมเช่นศีรษะลิงโล้น ศีรษะยักษ์โล้นมักทำฝาหลังตัดตรง ถ้าเป็นลุ้งสำหรับเก็บหัวโดดดขนอย่างมีเครื่องยอดทรงมงกุฎหรือชำาก็มัก ทำฝาเป็นรูปกรวยกลมทรงสูงบ้างเตี้ยบ้าง เพื่อให้มีที่ว่างพอเหมาะแก่ขนาดสูงของเครื่องยอดชนิดนั้นๆลุ้งสำหรับเก็บ รักษาหัวโดดดขนนี้แต่ก่อนทำขึ้นด้วย เครื่องจักรสานลงรัก ต่อมานิยมทำด้วยสังกะสีต่อเป็นลุ้งดังกล่าว และมักทาสีภายนอกลุ้งต่างๆสี

การรักษาหัวโขนขนถ้าไม่เก็บไว้ในลุ้ง หากประสงค์จะตั้งแต่งไว้สำหรับดูชม จะต้องมี ทวน ตั้งขึ้นเทินหัวโขนให้สูงขึ้นจากพื้น ทำด้วยไม้ท่อนกลึงเป็นหลักทวน กับมีแป้นกลมตรงปลายทวนสำหรับรองรับหัวโขน ทวนคันหนึ่งๆขนาดสูงประมาณ ๑๐-๑๒ นิ้ว เมื่อนำเอาหัวโขนสวมตั้งบนทวนเช่นนี้แล้ว หัวโขนจะลอยเหนือพื้นพอสมควร การที่ต้องตั้งหัวโขนไว้บนทวนเช่นนี้ก็เพื่อให้ความสำคัญแก่หัวโขนทั้งนี้ เนื่องด้วยเป็นเครื่องสวมศีรษะเป็นของสำหรับ อวัยวะส่วนที่สูงที่สุดของร่างกายจึงไม่คววรตั้งวางหัวโดขนไว้บนพื้นซึ่งการ วางไว้บนพิ้นก็อาจเป็นเหตุให้หัวโขนล้มกลิ้ง ไปกระทบเข้ากับของข้างเคียงเกิดชำรุดเสียกายได้

อนึ่ง หัวโขนที่ใช้สวมในการแสดงโขนยังได้รับความนับถือ ไม่วางไว้ในที่ต่ำ ไม่ทำตกลงบนพื้น ไม่ข้ามมกราย เนื่องด้วยถือว่าเป็นของสูง ซึ่งเป็นประเพณีที่ดี และความประพฤติอันเรียบงามเป็นวิสัยปกติสำหรับคนไทยที่ถือปฏิบัติเนื่องๆมา