งานลงรักปิดทองประดับกระจก

by วันณพงค์
Published: Last Updated on 920 views

งานลงรักปิดทองประดับกระจก
งานลงรักปิดทอง เริ่มสมัยทวาราวดีพบว่ามีการเอาทองมาทำเครื่องทรง เครื่องประดับซึ่งพบหลักฐานที่ถ้ำเขางู จังหวัดเพชรบุรีเป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี จะเห็นรอยปิดทองที่พระองค์และที่ฐานชุกชี ส่วนสมัยสุโขทัยนั้นมีหลักฐานมีการปิดทองบนลวดลายสลักไม้ ซึ่งมีอยู่ที่ เจดีย์ พระพุทธรูป ซุ้มพระปรางค์ งานปิดทองและงานประดับกระจก สังกัดอยู่ในส่วนของงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร งานปิดทองเป็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จัดเป็นช่างศิลป์ประเภทหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในหมู่ช่างรัก ประกอบด้วย ช่างลงรัก ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจก และช่างมุก โดยได้รับอิทธิพลมาจากและแบบอย่างมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งนิยมประดับกระจกสีชิ้นเล็กๆ ลงบนเสื้อผ้าอาภรณ์ หลักฐานที่เด่นชัด คือสมัยอยุธยานิยมประดับกระจกเป็นของสวยงามประกอบงานที่ประณีตศิลป์ต่างๆและ สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
งานลงลักปิดทองประดับกระจก งานลงลักประดับกระจก เป็นงานที่ต้องทำตามหลังหรือเป็นงานประกอบขั้นสุดท้ายต่อจากงาน ปั้น งานแกะ สลัก หรือตกแต่งส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมของไทย เนื่องจากกระจกเป็นวัสดุทนแดดทนฝน เป็นส่วนสำคัญในการตกแต่งประดับประดาเพื่อเพิ่มความสวยงามให้ชิ้นงานดูสดสวย ด้วยสีสันของลวดลายของกระจกที่ช่างได้ประจงตกแต่งขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถออกแบบลวดลายให้ประสานสัมพันธ์ซึ่งเกิด จากความงามของสีผิวกระจกเอง และประกายแสงที่เปล่งออกมาคล้ายอัญมณี เมื่อได้รับแสงสว่างส่องกระทบ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา คูหา หางหงส์ หน้าบัน ฐานพระ ธรรมาสน์ เพื่อความสวยงามประการหนึ่งและอีกประการหนึ่ง เพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้ โดยคุณสมบัติของยางรักที่ช่างจะต้องลงรักถึงสามครั้งก่อนที่จะปิดทอง และประดับกระจก ในอดีตการปิดทองร่วมกับการประดับประจก เรียกว่า ปิดทองล่องกระจก ซึ่งเป็นการพัฒนางานศิลปกรรม ซึ่งเดิมมีคำว่า ล่องชาด คือ ลงชาด หมายถึง การทาชาดลงระหว่างสิ่งที่ทาทองแล้ว และคำว่า ปิดทองล่องชาด คือ ศิลปกรรมที่นำทองมาปิดที่ลาย ซึ่งพื้นทาด้วยชาด ดังนั้น ปิดทองล่องกระจก คือ ปิดกระจกที่ปูนหรือไม้ส่วนล่องปิดทองแทนการทาชาด
งานประดับกระจกในจังหวัดเพชรบุรีสามารถเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะฐานพระประธานในอุโบสถบางวัด เช่น พระวิหารหลวงวัดมหาธาตุวรวิหาร ฐานพระประธานในอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร หรือตามหน้าบันอุโบสถ ช่อฟ้า ใบระกา ธรรมาสน์ คันทวย และฐานชุกชีพระพุทธรูป เป็นต้น ข้อสังเกต การประดับกระจกในที่สูง เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มักไม่ต้องคำนึงถึงความประณีตมากนัก เพียงแต่ประดับให้เรียบร้อยเต็มพื้นที่ เพราะเมื่อติดตั้งในที่สูงจะมองเป็นเนื้อเดียวกันไม่เห็นรอยต่อเชื่อม หรือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าเป็นงานที่อยู่ในระดับสายตา ช่างจะต้องใช้ความประณีตในการประดับกระจกเป็นอย่างมาก